วันศุกร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

รอมานานจะได้เป็นเจ้าของ “MK สุกี้) เสียที 555

ใครอยู่ กทม. เมืองที่เขาว่าเป็นแดนศิวิไลซ์ แล้วไม่เคยไปกิน MK สุกี้ อันนี้คงจะเชยสุดๆ แต่ถ้าใครไม่เคยกินก็ขออภัยด้วยนะครับ

งงไหมครับ ทำไมร้านสุกี้ร้านนี้ชื่อ MK เรื่องมันมีอยู่ว่า…..

คุณป้าทองคำ เมฆโต แกเปิดร้านอาหารไทยคูหาเดียวที่สยามสแควร์ โดยซื้อกิจการมาจาก นางมาคอง คิงยี (Markon Kin - MK) ชาวฮ่องกง ซึ่งต้องการขายกิจการเพื่อย้ายไปต่­างประเทศ แม้ขณะนั้นคุณป้าจะไม่มีเงินมากพอ แต่ด้วยความซื่อสัตย์ และขยันขันแข็งตลอดการทำงานก็เป็นหลักประกันให้ มาคอง คิงยี เจ้าของร้านมั่นใจ ยอมส่งมอบกิจการให้คุณป้าผ่อนชำระเป็นงวด ๆ จนหมด โดยมีอาหารขึ้นชื่ออย่าง ข้าวมันไก่ เนื้อตุ๋น แป๊ะซะปลาช่อน ผัดไทย ผัดขี้เมา เนื้อย่างเกาหลี และขยายเป็น 2 คูหา จนถึงปี 2527 คุณป้าได้รับการชักชวนให้ไปเปิดร้านที่เซ็นทรัลพลาซ่า ในชื่อร้านใหม่ว่า ร้านกรีน เอ็มเค ต่อมาคุณสัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ นายห้างเซ็นทรัล ได้ชักชวนให้เปิดร้านสุกี้ เอ็มเคแห่งแรกที่เซ็นทรัลลาดพร้าว ปัจจุบัน เอ็มเค สุกี้ มีสาขา 365 สาขาทั่วประเทศ และยังมีอีก 25 สาขา ในประเทศญี่ปุ่น ที่เมืองฟูกูโอกะ ซึ่งก็มีการนำน้ำจิ้มสุกี้จากประเทศไทยไปบริการที่ญี่ปุ่นด้วย นอกจากนั้นเอ็มเคก็ได้เปิดสาขาแรกที่นครโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม ในปี 2553 แล้วด้วย

เรื่องของคุณป้าจบไป มาดูดีกว่าว่าปีหน้า MK สุกี้เข้าตลาดหลักทรัพย์ อันนี้ซิ! เรื่องของเราแม่นแท้ อยากเป็นเจ้าของมานานแล้ว..... กับการเจริญเติบโตอย่างมั่นคน งานนี้ฝากชีวิตไว้ได้อีกหนึ่ง 555++
 

วันพฤหัสบดีที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2555

10 ปี โต 1,000 เท่า


หากมองย้อนหลังไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ใครเล่าจะนึกว่าหุ้นพวกนี้ มันจะมหัศจรรย์ขนาดนี้ ยกตัวอย่าง โรงพยาบาลรามคำแหง (RAM) เมื่อ 10 ปีที่แล้ว (ปี พ.ศ. 2544) ราคา 14.50 บาท/หุ้น ถ้าวันนั้นเราลงทุนไป 1,000,000 บาท จะได้หุ้น 68,965 หุ้น หลังจากเราซื้อแล้วก็ทำเป็นลืมมันไปสัก 10 ปี ไปทำมาหากินของเราต่อ เรามาดูว่า ณ วันนี้ (26 กันยายน 2555) เราจะมีเงินเท่าไหร่ ราคาหุ้น RAM ณ วันนี้อยู่ที่ 1,918 บาท/หุ้น เราจะมีเงินเท่ากับ 68,965 x 1,918 = 132,274,870 บาท ยังไม่รวมปันผลประจำปีและเรายังไม่เคยไปนั่งปวดหัวกับการบริหารงานของโรงพยาบาลเลย สำหรับคนที่เห็นภาพนี้แล้วคิดต่อและมองออกไปอีก 10 ปีข้างหน้าว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง แล้วเลือกลงทุนในบริษัทที่เป็น trend ในอนาคต เท่านี้อิสรภาพทางการเงินก็จะมาเยือนเราเอง ....จบ

วันศุกร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ส่งแม่ขึ้นฟ้า

ผมเริ่มเขียนบรรทัดนี้ขณะนั่งทำงาน หลังจากส่งแม่ขึ้นฟ้าไปแล้ว 79 วัน ในวันที่แม่ไม่อาจจะหวนกลับมาได้อีก และคงไม่ได้เป็นแม่แม่ลูกกันอีกแล้วในชาตินี้ แต่ไม่เป็นไร ผมพูดทุกคำที่อยากพูดกับแม่ไปหมดแล้ว ทำทุกอย่างที่คิดว่าดีที่สุดเพื่อแม่แล้ว เหลืออยู่ก็แค่ดำเนินชีวิตต่อไปเท่านั้น

คนเรารู้สึกอบอุ่นและอ่อนโยนเป็น ก็เพราะเคยเห็นรอยยิ้มของแม่ เคยได้อยู่ในมือแม่ เคยได้อยู่ในอ้อมอกแม่ สัมผัสอบอุ่นละไมของแม่ช่วยพรากเราออกจากฝันร้ายและเสียงร้องไห้ และทำให้เราโตขึ้นด้วยความเชื่อมั่นว่าจะวิ่งกลับไปหาฝันดีด้วยเสียงหัวเราะ ได้เสมอ

ช่วงแรกที่เริ่มรู้ความ ธรรมชาติไม่เปิดโอกาสให้เราจดจำรายละเอียดเกี่ยวกับแม่ได้มากนัก เราต้องโตขึ้นอีกหน่อย ถึงตระหนักว่าแม่คือผู้หญิงคนหนึ่งที่อุ้มเราเดินเล่น กลั่นน้ำนมให้เรากิน และให้กำเนิดเรามาลืมตาดูโลก

เมื่ออยู่กับแม่มาแต่เกิด คนเราอาจเฉื่อยชา หรือกระทั่งนึกคร้านกับการพยายามค้นหาความหมายของการมีแม่ สำหรับผมเองต้องรอเวลาผ่านไปสิบแปดปี ถึงค่อยซึ้งว่า แม่มีความหมายอย่างไร

วันแห่งการรู้ซึ้งคือวันที่ผมต้องจากอกท่านเพื่อมาเรียนต่อที่กรุงเทพฯ โดยมีคุณพ่อคุณแม่พาไปส่งที่ท่ารถ และจากจุดส่ง พวกท่านเห็นได้ชัดว่าผมกำลังจะเดินหน้าเข้าหาเมืองใหญ่ ที่ไม่มีหลักประกันความปลอดภัยใดๆ ครั้งนั้นพอผมขึ้นรถทัวร์ด้วยสีหน้ายิ้มแย้มสมใจกับการได้ทำในสิ่งที่อยากทำ ทั้งพ่อและแม่ก็พร้อมใจเหลียวมองด้วยสายตาห่วงใยรุนแรงอย่างที่ผมไม่เคยเห็น มาก่อน นั่นเป็นวาระแรกจริงๆที่ทำให้เข้าใจค่าของตัวเองว่ามีต่อพวกท่านเพียงใด ขณะเดียวกันก็ทำให้เข้าใจด้วยว่าพ่อแม่มีความหมายยิ่งกว่าคนที่เลี้ยงเราโต มาขนาดไหน

สายตาของแม่ที่รักเรานั้น สอนให้เรารักคนเป็น ห่วงใยคนเป็น แม่ผมมีลูกสองคน รักลูกทุกคน ห่วงลูกทุกคน นั่นคงต้องแปลว่าลูกทุกคนมีบุญพอ จึงมาอาศัยท้องแม่เกิดได้ เพราะแม่เป็นแม่ ทั้งชีวิตผมกับน้องจึงไม่กลับกลอกเป็นคนมีความฝังใจเลวร้าย ตรงข้าม จุดแห่งความอ่อนโยนในหัวใจจะคงอยู่ตลอดไป เพียงระลึกแล้วรู้ตัวว่ามีแม่ และแม่เราก็แสนดีเหมือนนางฟ้า

น้ำเสียงนุ่มนวลแฝงความเข้มแข็งน่ารักของแม่ผมไม่เหมือนใคร แค่คุณได้ยินครั้งแรกก็จะจำได้และรู้ว่าเป็นท่าน ผมมาเรียนรู้ว่าตัวเองรักและอยากฟังน้ำเสียงของแม่เพียงใด ก็เมื่อท่านหลับใหลอย่างไรสติมาตั้งแต่เย็นวันที่ 24 พ.ค. 55

สิ่งหนึ่งที่ผมคาดว่าจะต้องเกิดขึ้น แล้วก็ได้เกิดขึ้นในที่สุด คือการมาอยู่ใกล้แม่ในช่วงสุดท้าย ไม่มีอะไรน่าเสียใจ เพราะก่อนไปท่านหมดห่วงทุกอย่างแล้ว

ระหว่างช่วงสุดท้ายของแม่ตลอด 7 เดือน มีเวลาให้ครอบครัวเราบังเกิดปีติอย่างใหญ่หลายครั้ง ดังเช่นที่แม่เอาชนะความเจ็บปวดทางกาย หันมาระบายยิ้มหวานด้วยใจที่พร้อมสละความเคยชินเดิมๆ สละความอาลัยในตัวตนเก่าๆ ทั้งนี้ก็เพื่อรักษาจิตให้เป็นกุศลอย่างต่อเนื่อง นั่นคือสัญญาณบอกอย่างดี ว่าแม่จะสู้กับโรคร้ายโดยไม่ระย่อท้อ และแม่จะเอารางวัลใหญ่คือมหากุศลจิตในวาระแห่งการลาจากโลกนี้ไป

ตลอดระยะเวลาที่แม่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล ทำให้ครอบครัวเราได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น มากกว่าการพูดคุยทางโทรศัพท์  การได้เช็ดตัวท่าน ประคองท่านเข้าห้องน้ำ นอนอยู่ข้างๆท่าน การได้เห็นแม่พยายามจะมีชีวิตอยู่ทุกขณะลมหายใจ เป็นความบิติอย่างใหญ่หลวง

วันที่นับว่าน่าปลาบปลื้มไม่มีอะไรเกิน เช้าวันหนึ่งช่วงต้นเดือน ม.ค. 55 แม่บอกว่าแม่เห็นเทวดามาโปรดที่ห้อง เป็นครั้งแรกที่ผมเห็นแม่อยากมีชีวิตอยู่ต่ออย่างมีความหวัง หลังจากทนถูกโรคร้ายทำทารุณมาระยะหนึ่ง แม่พยายามตั้งสติและมีกำลังใจข่มความเจ็บปวด และแม่มักจะพูดเสมอว่าไม่ต้องเป็นห่วงแม่ ลูกกลับทำงานเถอะ แม่ไม่ตายหรอก

ดีแล้วที่มะเร็งเปิดโอกาสให้เราเห็นใจและสั่งเสียกันนานหลายเดือน แม่ได้รู้ในช่วงสุดท้ายว่าค่าของท่านมีต่อพวกเรามากมายปานใด ก็ด้วยความจริงที่ทุกคนในครอบครัวพร้อมใจ พร้อมหน้าพร้อมตามาอยู่กับแม่ มาร่วมส่งแม่ขึ้นฟ้าจนวันสุดท้าย

วันแม่กำลังจะมาถึง แต่บางคนอาจยังไม่ถึงเวลาเข้าใจความหมายของการมีแม่ ขณะที่หลายคนน่าจะผ่านเวลานั้นมาแล้ว ซึ่งก็คงเห็นตรงกัน ว่าคนเราจะรู้ค่าของชีวิตตัวเองไม่ได้ ถ้ายังไม่รู้ค่าของผู้ให้กำเนิดชีวิตเราดีพอ

ตาแล แม่เรา ป่วยไข้
ด้วยใจ อยากป่วย แทนท่าน
ฝากฟ้า ดูแล แทนกัน
ในวัน แม่ข้า ลาดิน… อาลัยสุดซึ้ง


ขอขอบคุณ ข้อความบางประโยคและบทกลอน ของคุณดังตฤณ
๑๑ สิงหาคม ๒๕๕๕

วันศุกร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

หุ้นกับชีวิตประจำวัน

วันๆหนึ่งเราเกี่ยวข้องกับหุ้นอย่างไรบ้าง เราลองดูชีวิตของมนุษย์เงินเดือนในวันศุกร์หรรษาวันหนึ่ง ณ ใจกลางเมืองกรุงเทพมหานคร

06.00 . เสียงนาฬิกาปลุกดังขึ้น วันที่หน้าเบื่อเริ่มต้นอีกแล้วซิเรา ว่าแล้วก็หยิบรีโมทเปิดทีวีดูข่าวสักหน่อยจะได้ไม่ตก trend แล้วก็เจอพี่สรยุทธ์แต่เช้า (BEC ช่อง 3) พอโฆษณาก็เปลี่ยนไปดูช่อง 9 (MCOT) ว่าแล้วก็เริ่มหิวลงไปหาอะไรกินที่ 7 eleven (CPALL) ดีกว่า ซื้อ มาม่า (TF), ไส้กรอกซีพี (CPF), น้ำผลไม้บำรุงสมองยามเช้าสักหน่อย (MALEE)

07.00 . อาบน้ำ แต่งตัว ขับรถไปทำงาน แวะเติมน้ำมัน ปตท. (PTT)

08.00 . ทำงาน โทรหาลูกค้าเรื่องงาน (DTAC) โอนเงินผ่านอินเตอร์เน็ต (JAS) จากธนาคารกสิกรไทย (KBANK) จ่ายค่าบัตรเครดิต (KTC)

12.00 . สั่งไก่ เคเอฟซี (CENTEL) มากินมื้อเที่ยง นั่งอ่านหนังสือพิมพ์คมชัดลึก (NBC) อ่านสยามสปอร์ต (SPORT) เช็คผลบอล

13.00 . ทำงานต่อ

17.00 . เลิกงาน ศุกร์หรรษาเริ่มแล้ว จอดรถไว้ที่ออฟฟิค นั่งรถไฟฟ้า (BTS) ไปเซ็นทรัล (CPN) ดูหนังที่ (MAJOR) ระหว่างรอไปกินไอศกรีมสเวนเซ่น (MINT), ซื้อหนังสือร้าน (SE-ED), ซื้อน้ำชาเขียว (OISHI) ไปดื่มในโรงหนัง

21.00 น. กลับบ้าน เปิดทีวีดูฟุตบอล premier ช่อง ทรูวิชั่น (TRUE)

เห็นไหมครับว่าหุ้นไม่ใช่เรื่องไกลตัวเราเลย มันแฝงอยู่ในทุกๆกิจกรรมของคนเรา มันจะดีไหมถ้าเราเป็นหุ้นส่วนของธุรกิจเหล่านี้ที่เราใช้บริการอยู่ทุกวันและมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ “มันคงเท่ห์ไม่เบาถ้าจะบอกว่าวันหยุดนี้ไปเดินเล่นที่ห้างของเราดีกว่า” 5555


วันเสาร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2555

วันจันทร์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ประวัติชาวยอง ชาติพันธุ์แห่งสิบสองพันนา

คุณรู้หรือเปล่า??? ว่าคุณมาจากไหน รากเหง้าของบรรพบุรุษของคุณคือใคร ถ้าคุณคือคนไทย (คนสยาม) ประวัติความเป็นมายังไม่มีหลักฐานปรากฏชัดเจน แต่เป็นไปได้ว่าอพยพมาจากเทือกเขาอัลไตทางตอนเหนือของจีน แต่สำหรับผมลูกหลานชาวยอง 100% ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะทั้งภาษา ประเพณีต่างๆ มีประวัติความเป็นมาที่ชัดเจนมีหลักฐานประกอบ และเหตุผลที่เราต้องรู้ว่าเราเป็นใคร ก็เพราะว่าเราจะได้เข้าใจรากเหง้าแห่งภูมิปัญญาที่บรรพบุรุษของเราหล่อหลอมจนมาเป็นเราในวันนี้ เมื่อถึงจุดๆ หนึ่งคนเราทุกคนจะโหยหา แสวงหา ความเป็นตัวตนของตนเอง เพื่อการปลดปล่อยทางจิตวิญญาณ “สูงสุดสู่สามัญ สู่รากเหง้าแห่งการก่อกำเนิด” ในไม่ช้านี้ผมจะไปเยือนยังจุดที่บรรพบุรุษผมยืนอยู่ อย่างน้อยแค่เสียววินาทีก็ยังดี อย่างน้อยก็ไม่เสียชาติเกิดที่เกิดมาเป็นลูกหลานคนยอง ผมหวังว่าพี่น้องคนยองจะหาโอกาสสักครั้งในชีวิต เพื่อไปไหว้ “พระธาตุหลวงจอมยอง” ที่เมืองยอง จุดกำเนิดของเผ่าพันธุ์เรา


ประวัติของชาวยอง

ยอง หรือไทยอง ชาวล้านนาจะออกเสียงเป็น "ญอง" แต่กลุ่มชาวไทยองมักออกเสียงเป็น "ยอง" ชื่อ ยอง หรือ ไทยองนี้ ใช้เรียกกลุ่มคนที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เมืองยอง และกระจายอยู่ทั่วไปในแถบเมืองต่างๆ ในรัฐฉานด้านตะวันออกของพม่า เขตสิบสองพันนา ในมณฑลยูนนานของจีน เมื่อ พ.ศ.๒๓๔๘ กลุ่มชาวเมืองยองได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเมืองลำพูนเป็นส่วนใหญ่ ด้วยสาเหตุของสงครามการรวบรวมกำลังคน ต่อมาก็ได้กระจายไปอยู่ในหัวเมืองต่าง ๆ ในล้านนา
 
คำว่ายองหรือ "ญอง"อันเป็นชื่อเมืองนั้น ตำนานเมืองยองอธิบายว่าเป็นชื่อหญ้าชนิดหนึ่งที่เคยขึ้นในบริเวณเมืองยอง ครั้งหนึ่งมีนายพรานมาจากอาฬวีนคร ได้จุดไฟเผาป่าทำให้หญ้ายองปลิวไปทั่ว

เมืองยองมีชื่อเป็นภาษาบาลีว่า "มหิยังคนคร"(ตำนานเมืองยอง) ตัวเมืองตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเชียงตุง ห่างกันประมาณ ๘๐ กม. ห่างจากแม่สายประมาณ ๑๕๗ กม. บริเวณเมืองยองเป็นแอ่งที่ราบกลางหุบเขา มีภูเขาล้อมรอบ ภูมิประเทศด้านตะวันตกสูงกว่าด้านตะวันออก แม่น้ำสายสำคัญคือน้ำลาบ น้ำวัง และน้ำยอง จึงไหลไปทางทิศตะวันออก

เมืองยองมีประตูเวียง ๗ ประตูคือประตูเสื้อเมือง ประตูน้อย ประตูดินแดง ประตูม่อนแสน ประตูปางหิ้ง ประตูหูหูด และประตูผาบ่อง บริเวณใจกลางเมืองมีต้นสรี หรือต้นโพธิมีไม้ค้ำโดยรอบซึ่งแสดงถึงความเชื่อเรื่องไม้ค้ำสรีเช่นเดียวกับ คนเมืองในล้านนา

เมืองยอง เป็นเมืองที่มีตำนานกล่าวถึงพัฒนาการของบ้านเมืองที่เริ่มขึ้นในราวพุทธ ศตวรรษที่ ๑๘ โดยเริ่มจากการตั้งถิ่นฐานของกลุ่มคนพื้นเมือง ซึ่งได้แก่พวกลัวะหรือทมิฬ

ต่อมาในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙ มีกลุ่มคนไทจากเมืองเชียงรุ่ง นำโดยเจ้าสุนันทะโอรสของเจ้าเมืองเชียงรุ่ง ได้พาบริวารเข้ามามีอำนาจปกครองเมืองยองเหนือคนพื้นเมือง โดยมีทั้งปัจจัยภายในเป็นสิ่งสนับสนุน ได้แก่การผสมผสานระบบความเชื่อและพิธีกรรมที่มีอยู่แต่เดิมกับพุทธศาสนาที่ เข้ามาภายหลัง กับได้สร้างความสัมพันธ์กับคนพื้นเมือง ส่วนปัจจัยภายนอกได้แก่ความสัมพันธ์ทางเครือญาติและระบบบรรณาการกับเมือง เชียงรุ่ง เชียงตุงและการสร้างพันธมิตรทางการเมืองกับกลุ่มเมืองในที่ราบเชียงราย บนฝั่งแม่น้ำโขงตอนกลาง เช่น เชียงแสน เชียงของ เป็นต้น เมืองยองในยุคต้นของตำนาน จึงมีความสัมพันธ์ทางสังคมและวัฒนธรรมกับเมืองเชียงรุ่งอย่างใกล้ชิด

จากความสัมพันธ์ดังกล่าว คนเมืองยองจึงสืบเชื้อสายมาจากผู้คนที่อพยพมาจากเมืองเชียงรุ่งและเมืองอื่น ๆ ในสิบสองพันนา ซึ่งเป็นคนลื้อหรือไทลื้อ และเมื่ออพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานครั้งใหญ่ในเมืองลำพูนในปี พ.ศ.๒๓๔๘ คนทั่วไปจึงเรียกว่า ฅนเมืองยอง เพราะในสมัยนั้นรัฐประชาชาติหรือรัฐชาติ (Nation State) แบบตะวันตกยังไม่เกิดขึ้น ในสมัยนั้นผู้คนต่างบ้านหลายเมืองที่มาอยู่ร่วมกัน จึงเรียนขานกันตามชื่อบ้านเมืองเดิม เช่น คนเมืองเชียงใหม่ คนเมืองลำปาง คนเมืองแพร่ คนเมืองน่าน คนเมืองเชียงตุง เป็นต้น ในกรณีของคนเมืองยองต่อมาคำว่าเมืองได้หายไป คงเหลืออยู่คำว่า "ฅนยอง" ดังนั้น ยอง จึงมิใช่เป็นชาติพันธุ์ เมื่อวิเคราะห์จากพัฒนาการและภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ของเมืองยองแล้ว คนยองก็คือคนเผ่าไทลื้อนั่นเอง

เมืองยอง ตั้งอยู่ในแอ่งที่ราบไม่กว้างใหญ่นัก มีภูเขาล้อมรอบ มีความอุดมสมบูรณ์ เพราะมีแหล่งน้ำที่ดี นับเป็นเขตเกษตรกรรมที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง ตั้งแต่อดีตจึงมีผู้คนอพยพจากที่ต่าง ๆ เข้ามาตั้งถิ่นฐานตลอดเวลา เขตกำแพงเมืองลักษณะกลมรีตั้งอยู่บนเนินสูง มีคูน้ำคันดิน ที่ตั้งประกอบด้วยประตูเมืองทั้ง ๔ ด้าน ดังนี้

ด้านเหนือ ติดกับดอยปางหนาว มีประตูม่อนแสน

ด้านตะวันตก ติดเทือกเขา มีประตูปางหิ่ง

ด้านตะวันออก ติดที่ราบ มีประตูป่าแดง และประตูน้อย

ด้านใต้ ติดที่ราบ โดยมีแม่น้ำยองไหลผ่าน มีประตูเสื้อเมือง

ในยุคที่อาณาจักรล้านนาสมัยราชวงศ์มังรายเจริญรุ่งเรืองและมี อำนาจ เมื่อกองทัพมองโกลหรือพวกฮ่อยกกองทัพเข้ายึดเมืองยองได้และเลยมาตีถึงเชียง แสน สมัยพญาสามฝั่งแก่น (พ.ศ.๑๙๔๗-๑๙๔๘) กองทัพเชียงใหม่ สามารถขับไล่พวกฮ่อออกจากเชียงแสนและเมืองยองได้ เมืองยองจึงได้หันมาส่งบรรณาการให้กับเชียงใหม่ ในสมัยที่ที่ล้านนามีอำนาจสูงสุด พระญาติโลกราช (พ.ศ.๑๙๘๔-๒๙๓๙) ได้ขึ้นไปปกครองเมืองยองอยู่ระยะหนึ่งในราว พ.ศ.๑๙๘๕ เพราะตำนานเมืองยอง และตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ได้กล่าวถึงถึงการขยายอำนาจของล้านนาไปจนถึงดินแดนสิบสองพันนา พญาติโลกราช ซึ่งในตำนานได้ระบุว่า "พระเจ้าอโศก" ได้บูรณะพระธาตุจอมยอง และทรงทะนุบำรุงพุทธศาสนาในเมืองยองให้เจริญมั่นคง สันนิษฐานว่าพุทธศาสนาแบบลังกาได้ขึ้นไปเผยแผ่ถึงหัวเมืองต่าง ๆ ทางตอนบนระยะเวลานี้ด้วย เหตุการณ์ดังกล่าวได้บ่งบอกถึงความสัมพันธ์ระหว่างเมืองยองกับเชียงใหม่ที่ มีมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์มังราย

ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๒๙-๒๒ ในยุคที่อาณาขนาดจักรใหญ่ได้ขยายตัวออกไปโดยการทำสงคราม เช่น พม่า จีนหรือสิบสองพันนา ดังนั้น ล้านนาและล้านช้างจึงให้ความสำคัญต่อการเพิ่มกำลังคนซึ่งเป็นส่วนประกอบ สำคัญในการขยายอำนาจและสร้างอาณาจักร และยังใช้เป็นสิ่งที่แสดงอิทธิพลเหนือดินแดนต่าง ๆ ในปริมณฑลแห่งอำนาจหรือเมืองชายขอบ

จากสภาพที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ เมืองยอง จึงอยู่ท่ามกลางการขยายอำนาจ และการแสดงอิทธิพลของศูนย์อำนาจต่างๆ ตลอดเวลา การอยู่ในฐานะรัฐกันกระทบหรือรัฐกันชน (Buffer State) ระหว่างอาณาจักรใหญ่ ต้องปรับตัวโดยการสร้างความสัมพันธ์ในหลายรูปแบบ เพื่อให้เกิดความสมดุลของอำนาจจากฝ่ายต่างๆ ที่อยู่รายรอบ ทำให้เมืองยองมีลักษณะเป็นเมืองที่เรียกกันว่า "เมืองสามฝ่ายฟ้า" เพราะมีความสัมพันธ์ในเชิงบรรณาการ (tribute) และเชิงอำนาจกับจีน พม่าและเชียงใหม่ในเวลาเดียวกัน ในยามทำสงคราม เมืองยองจึงถูกดึงเข้าสู่การสู้รบ โดยถูกเกณฑ์ทั้งเสบียงอาหารและผู้คน ตลอดจนการกวาดต้อนผู้คนไปตั้งถิ่นฐานในที่ต่าง ๆ ครั้งที่มีความสำคัญมากที่สุดคือ เมื่อกองทัพเชียงใหม่สมัยพระเจ้ากาวิละ นำโดยเจ้าอุปราชธัมมลังกา และเจ้าฅำฝั้น ได้ยกกองทัพขึ้นไปกวาดต้อนผู้คนจากเมืองยองและเมืองใกล้เคียง โดยเฉพาะหัวเมืองต่าง ๆ ทางตอนบนที่เคยมีความสัมพันธ์กันในด้านสังคมและวัฒนธรรมมาตั้งถิ่นฐานใน เมืองลำพูนและเชียงใหม่ในปี พ.ศ.๒๓๔๘ ซึ่งถือว่าเป็นนโยบายสำคัญของพระเจ้ากาวิละโดยการสนับสนุนของกรุงเทพฯ เพื่อฟื้นฟูบ้านเมืองต่าง ๆ ในล้านนา เพราะได้รับความเสียหายจากสงครามและการยึดครองของพม่า

เมืองเชียงแสนซึ่งเป็นที่มั่นแห่งสุดท้ายที่พม่าได้ใช้เป็นฐาน กำลังสำคัญในการควบคุมหัวเมืองต่าง ๆ ในดินแดนทางตะวันออกบริเวณลุ่มแม่น้ำโขงตอนกลางได้ถูกกองทัพของเจ้ากาวิละตี แตกในปี พ.ศ.๒๓๔๗

ในปีถัดมา พ.ศ.๒๓๔๘กองทัพจากหัวเมืองต่าง ๆ นำโดยกองทัพเมืองเชียงใหม่ได้ยกขึ้นไปถึงเมืองยองและได้ "เทครัว" คือนำผู้คนในเมืองยองและหัวเมืองใกล้เคียง เป็นจำนวนมากให้มาตั้งถิ่นฐานในเมืองลำพูนและเชียงใหม่ ซึ่งก่อนหน้านี้มีผู้คนเบาบาง การ "เทครัว"จากเมืองยองครั้งนี้ เป็นการอพยพผู้คนครั้งสำคัญครั้งหนึ่ง ที่มีการนำมาทั้งระบบของเมืองอันประกอบด้วยเจ้าเมืองยอง บุตร ภรรยา ญาติพี่น้อง ขุนนาง พระสงฆ์ และผู้นำท้องถิ่นระดับต่าง ๆ ตลอดจนไพร่พลจำนวนมากเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเมืองลำพูน

ระหว่างปี พ.ศ.๒๓๒๕-๒๓๓๙ พระเจ้ากาวิละและญาติ ได้ตั้งมั่นและรวบรวมผู้คนอยู่ที่เวียงป่าซางเขตเมืองลำพูน จนมีกำลังคนเพียงพอแล้วจึงได้เข้ามาตั้งมั่นและฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่ ใน ปี พ.ศ.๒๓๓๙ พระเจ้ากาวิละยังได้ดำเนินการรวบรวม และกวาดต้อนผู้คนต่อมาอีกหลายครั้งและได้ขยายขอบเขตการกวาดต้อนผู้คนออกไป ยังบริเวณอื่นโดยเฉพาะในแถบตะวันออกของแม่น้ำฅง ด้วยเหตุนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเจ้ากาวิละ ดำรงตำแหน่งเจ้าประเทศราช ในปี พ.ศ.๒๓๔๕ ทำให้พระเจ้ากาวิละเป็นที่ยอมรับของหัวเมืองต่าง ๆ ในล้านนาและหัวเมืองทางตอนบน อีกทั้งได้รับการสนับสนุนจากกรุงเทพฯ มากขึ้นกว่าเดิม ดังจะเห็นได้จากในคราวที่พระเจ้ากาวิละยกกองทัพไปตีเชียงแสน ในปี พ.ศ.๒๓๔๕-๒๓๔๗ ก็ได้รับการสนับสนุนกำลังทหารจากกรุงเทพฯ เวียงจันทน์ เมืองลำปาง เมืองน่าน และครั้งที่ยกไปตีและกวาดต้อนผู้คนจากเมืองยองครั้งใหญ่ ในปี พ.ศ.๒๓๔๘ นั้นก็ได้รับการสนับสนุนกองทัพจากเมืองลำปาง เมืองแพร่ เมืองน่านและเชียงตุง ที่มีกำลังคนนับ ๑๙,๙๙๙ คน นับเป็นการยกทัพครั้งใหญ่ที่สุดในสมัยพระเจ้ากาวิละ

หลังจากทัพพม่าที่เชียงแสนถูกทัพจากเชียงใหม่ตีแตกในปี พ.ศ.๒๓๔๗ แล้ว ทัพเชียงใหม่ได้ยกขึ้นไปตีเมืองยองก่อนเมืองอื่น ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงสถานะของเมืองยองในปี พ.ศ.๒๓๔๘ ว่าเป็นศูนย์อำนาจย่อยของหัวเมืองบริเวณใกล้เคียง ดังเช่นในสมัยพระเจ้าสุทโธธรรมราชา(พ.ศ.๒๑๔๘-๒๑๙๑) พม่าได้มอบหมายให้เมืองยองดูแลหัวเมืองต่าง ๆ ถึง ๑๒ หัวเมืองมาก่อน การที่ทัพเชียงใหม่ยกมาครั้งนี้มีเป้าหมายสำคัญอยู่ที่เมืองยอง โดยเห็นได้จากภายหลังที่เมืองยองยอมสวามิภักดิ์แล้ว มีผลทำให้หัวเมืองอื่น ๆ ในบริเวณแถบนี้ยอมสวามิภักดิ์ต่อเชียงใหม่เช่นเดียวกัน ทำให้กองทัพเชียงใหม่สามารถขยายอิทธิพลเข้าไปถึงสิบสองพันนาและหัวเมืองอื่น ๆ ที่เคยอยู่ภายใต้อำนาจและอิทธิพลของพม่าได้สะดวก

ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่เป็นเอกสารพื้นเมืองเพียงฉบับเดียวที่ ให้รายละเอียดถึงเหตุการณ์ที่กองทัพเชียงใหม่ยกทัพไปกวาดต้อนผู้คนจากเมือง ยองในปี พ.ศ.๒๓๔๘ ในการที่พระเจ้ากาวิละยกทัพไปตีเมืองยองครั้งนี้ ก็อ้างว่าเป็นการกระทำดังที่กษัตริย์ในราชวงศ์มังรายได้ปฏิบัติมาก่อน แต่จากการที่เมืองยองได้ยอมสวามิภักดิ์แต่โดยดี และยังได้ถวายสิ่งของต่าง ๆ รวมไปถึงนางหน่อแก้วเกี๋ยงคำ น้องต่างมารดาของเจ้าฟ้าหลวงเมืองยองให้กับเจ้าอุปราชธรรมลังกาด้วยพร้อมกับ ผู้คนอีก ๑๙,๙๙๙ คน และอาวุธต่าง ๆ เช่น ปืนใหญ่ถึง ๑,๙๙๙ กระบอกกับช้างม้าเป็นอันมาก แสดงให้เห็นว่าทางเมืองยองก็ได้มีกำลังไพร่พลและอาวุธอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย

เป็นที่น่าสังเกตว่า ตำนานเมืองยองไม่ได้กล่าวถึงเรื่องนี้แต่อย่างใด แต่ในทางตรงกันข้าม กลับกล่าวถึงการสู้รบอย่างหนักติดต่อกันนานถึง ๓ วัน กองทัพของเชียงใหม่ที่ยกมา ยังประกอบด้วยกองทัพของเจ้าเชียงตุงและเจ้าจอมหง(เจ้าเชื้อสายเชียงตุง) การรบครั้งนี้ทำให้จอมหงแม่ทัพคนสำคัญคนหนึ่งของฝ่ายเชียงใหม่เสียชีวิต แต่เมืองยองก็แพ้ต่อกองทัพเมืองเชียงใหม่ ดังที่ตำนานเมืองยองกล่าวถึงเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า "..แต่นั้นครั้นรบกัน ได้แพ้(ชนะ)เมืองยองแล้ว ก็เอากันไปหาบ้านเมืองแห่งเขาหั้นและ.." ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเมืองยองไม่ได้ยอมสวามิภักดิ์ตามที่ตำนานพื้นเมือง เชียงใหม่กล่าวไว้ และในขณะที่เอกสารที่เขียนโดยชาวอังกฤษชื่อ เจ ยอร์จ สกอตต์ (J.George Scott) ได้กล่าวถึงสงครามครั้งนี้ว่า คนเมืองยองได้ตื่นตระหนกตกใจหนีเข้าป่าไปจำนวนหนึ่ง และอีกจำนวนหนึ่งถูกบังคับและกวาดต้อนไป บ้านเมืองถูกทำลายและได้รับความเสียหายจากกองทัพสยาม

ในขณะที่กองทัพเชียงใหม่พักไพร่พลอยู่ที่เมืองยองในปี พ.ศ ๒๓๔๘ นั้น ก็ได้ถือโอกาสยกทัพออกไปปราบปรามและกวาดต้อนผู้คนจากหัวเมืองต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้เคียงกับเมืองยองและดินแดนสิบสองพันนา ได้แก่ บ้านยู้ เมืองหลวย เมืองกาย เมืองขัน เชียงขาง เมืองวะ เมืองลวง เมืองหน(หุน) เมืองแช่ เมืองราย (ฮาย) เมืองเจื่อง ท่าล้อ เมืองพาน เมืองม้า เมืองของ เมืองวัง เมืองมาง เมืองขาง เมืองงาด เมืองออ เมืองงิม เมืองเสี้ยว เชียงรุ่ง ทำให้อำนาจของเชียงใหม่ขยายกว้างใหญ่ดังที่เป็นมาแล้วในสมัยราชวงศ์มังราย ครั้งนั้น พระเจ้ากาวิละน่าจะได้มอบหมายให้เจ้าเมืองยองและไพร่พลเข้ามาตั้งอยู่ที่เขต เมืองเชียงใหม่และลำพูน เพราะไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีการแบ่งไพร่พลเมืองยองให้กับเมืองต่าง ๆ เพียงแต่ไม่ปรากฎหลักฐานว่าไพร่พลเหล่านั้นของตนไปตั้งถิ่นฐานในบริเวณใดของ เมืองเชียงใหม่หรือลำพูน แต่น่าจะเป็นบริเวณรอบ ๆ ตัวเมืองเชียงใหม่เป็นส่วนใหญ่ เพราะในปัจจุบันมีชื่อหมู่บ้านและชุมชนกระจายตัวอยู่รอบ ๆ ตัวเมืองเชียงใหม่ เช่น บ้านเมืองวะ บ้านเมืองก๋าย บ้านเมืองเลน บ้านเมืองลวง บ้านวัวลาย บ้านตองกาย บ้านท่าสะต๋อย บ้านเชียงขาง วัดเชียงรุ่ง เป็นต้น จะมีเพียงเจ้าเมืองยองและญาติพี่น้องพร้อมกับไพร่พลเท่านั้นที่ได้รับมอบ หมายให้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในเมืองลำพูนและมีบทบาทในการบริหารบ้านเมืองร่วม กับกลุ่มเจ้าเจ็ดตน

การตั้งถิ่นฐานของชาวยองในเมืองลำพูน

ในระหว่างปี พ.ศ.๒๓๒๕-๒๓๔๗ ก่อนการก่อตั้งเมืองลำพูน พระเจ้ากาวิละยังไม่ได้แต่งตั้งให้ผู้ใดเป็นเจ้าเมืองลำพูน ด้านการปกครองยังคงมีสภาพเป็นส่วนหนึ่งของเมืองเชียงใหม่ จนถึงปี พ.ศ.๒๓๔๘ พระเจ้ากาวิละเห็นความจำเป็นที่จะต้องจัดตั้งและฟื้นฟูเมืองลำพูนอันเป็น นโยบายการเตรียมกำลังคนเพื่อสนับสนุนเชียงใหม่เมื่อมีการสงคราม นอกจากนี้กำลังคนในเมืองลำพูนก็ลดลงไปในครั้งที่พระเจ้ากาวิละพาไปตั้งที่ เมืองเชียงใหม่ในปี พ.ศ.๒๓๓๙ ครั้งหนึ่งแล้ว ยังสูญเสียไปกับความไม่สงบและสงครามหลายครั้ง เมืองลำพูนจึงอยู่ในสภาพที่จะรองรับผู้คนที่มาจากเมืองยองและเมืองต่าง ๆ นอกจากนี้ เมืองลำพูนยังอยู่ติดกับเชียงใหม่ ทำให้สามารถควบคุมดูแลได้ง่าย กับทั้งยังเป็นการปูนบำเหน็จความชอบแก่ญาติพี่น้องที่ได้ช่วยกันทำศึกสงคราม มาเป็นเวลานาน และเป็นการขยายตำแหน่งทางการเมืองเพื่อป้องกันการขัดแย้งในการขึ้นดำรง ตำแหน่งต่าง ๆ ในหมู่พี่น้องตระกูลเจ้าเจ็ดตนในอนาคตอีกด้วย

ดังนั้นเมื่อเดือน ๗(ราวเดือนเมษายน)ขึ้น ๕ ค่ำ ตรงกับวันจันทร์ พ.ศ.๒๓๔๘ พระเจ้ากาวิละได้มอบหมายให้เจ้าฅำฝั้นและบริวารจากเมืองเชียงใหม่และเจ้าบุญ มา น้องคนสุดท้องและบริวารจากเมืองลำปาง เจ้าเมืองยองพร้อมด้วยบุตรภรรยา น้องทั้ง ๔ ญาติพี่น้อง ขุนนาง พระสงฆ์และไพร่พลจากเมืองยองนับ ๑๙,๙๙๙ คน เข้ามาแผ้วถางเมืองลำพูนที่ร้างอยู่ จนถึงวันพุธขึ้น ๘ ค่ำ จึงเข้ามาตั้งเมืองลำพูนได้ พระสงฆ์จำนวน ๑๙๘ รูป สวดมงคลพระปริตในที่ไชยยะมงคล ๙ แห่งในเมืองลำพูน

เจ้าเมืองยอง บุตรภรรยา ญาติพี่น้อง ขุนนางและพระสงฆ์ระดับสูงได้ตั้งเข้าอยู่บริเวณเวียงยองทางฝั่งตะวันออกของ แม่น้ำกวง ส่วนไพร่พลอื่น ๆ ได้แยกย้ายกันออกไปตั้งในพื้นที่ต่าง ๆ ของลำพูน

การที่ชาวยองเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเมืองลำพูนอย่างเป็นกลุ่มเป็น ก้อนเป็นจำนวนมาก ในระยะแรก กลุ่มเจ้าเจ็ดตนที่ปกครองเมืองลำพูนได้ยินยอมให้เจ้าเมืองยองและญาติพั้น้อง มีบทบาทและมีส่วนร่วมในการปกครองบ้านเมือง ซึ่งแตกต่างจากเจ้าเมืองอื่น ๆ ที่อพยพมาในคราวเดียวกัน

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ในปี พ.ศ.๒๔๔๔-๒๔๔๕ ได้มีการสำมะโนประชากรในเมืองลำพูนเป็นครั้งแรกในสมัยของของเจ้าอินทยงยศ โชติ เจ้าผู้ครองนครลำพูนลำดับที่ ๙ พบว่ามีประชากรทั้งหมด ๑๙๙,๙๓๔ คน ส่วนใหญ่สืบเชื้อสายมาจากผู้คนที่อพยพมาจากเมืองยองและเมืองอื่นที่อยู่ใกล้ เคียง ซึ่งสอดคล้องกับที่ ร้อยโท ดับเบิ้ลยู ซี แมคเคลาน์ (W.C. McCloed) ข้าราชการชาวอังกฤษ ได้รายงานไว้ในช่วงระยะเวลาที่เดินทางเข้ามาในเมืองลำพูนในปี พ.ศ.๒๓๘๙

ฅนยอง หรือ ชาวยอง จึงเป็นประชากรส่วนใหญ่ของเมืองลำพูน ประชากรมากกว่าร้อยละ ๘๙ สืบเชื้อสายมาจากผู้คนที่อพยพมาจากเมืองยองและเมืองใกล้เคียง เช่น เมืองยู้ เมืองหลวย ในแถบหัวเมืองทางตอนบน ซึ่งปัจจุบันอยู่ในประเทศพม่าและสิบสองพันนาของจีน องค์ประกอบด้านประชากรจึงแตกต่างไปจากหัวเมืองอื่น ๆ ในล้านนา การผสมผสานและการปรับตัวของฅนยองในเมืองลำพูนจึงไม่ใช่เป็นลักษณะของคนส่วน น้อยในสังคม (Minority Group) ดังเช่นกลุ่มชาวเขิน ลื้อ ลัวะ กะเหรี่ยง ยาง แดง ไทใหญ่หรือเงี้ยว จีน หรือฮ่อ ที่อพยพเข้ามาในช่วงระยะเวลาเดียวกัน ด้วยเหตุนี้ ฅนยองในเมืองลำพูนจึงยังคงรักษาลักษณะทางสังคมและวัฒนธรรมบางอย่าง เช่นภาษาไว้ได้ค่อนข้างยาวนานจนถึงปัจจุบัน

ภาษายอง (Yong)
มี ผู้พูดในประเทศไทย 12,561 คน ในจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ผู้พูดพูดภาษาไทยถิ่นเหนือได้ด้วย นับถือศาสนาพุทธ อาจมีผู้พูดภาษานี้ในเมืองยอง รัฐฉาน ประเทศพม่า ใกล้เคียงกับภาษาไทลื้อ จัดอยู่ในตระกูลภาษาไท-กะได ภาษากลุ่มคำ-ไท สาขาเบ-ไท สาขาย่อยไต-แสก

##จงภูมิใจที่เราเป็นคนยอง##

วันอาทิตย์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2555

คนธรรมดาที่คิดต่าง (Zero sum game)


บทความนี้มุ่งเน้นเฉพาะวิธีคิด เพื่อแสวงหากำไรจากตลาดหุ้น

มนุษย์ทุกคนย่อมมีพื้นฐานแห่งความกลัวและความโลภเหมือนกันหมด จะมากจะน้อยแล้วแต่สิ่งแวดล้อมและประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมา ในตลาดหุ้นถ้าอยากจะประสบความสำเร็จและได้กำไรต้องเข้าใจทฤษฎี Zero sum game พูดง่ายๆ ก็คือมีคนได้ก็ต้องมีคนเสีย ทุกๆครั้งที่เราได้กำไรจะมีอีกคนหนึ่งที่ขาดทุน (เราเก่งพอที่จะเป็นคนได้กำไรตลอดหรือเปล่า) เราลองมาดูผู้เล่นในตลาดหุ้นว่ามีใครกันบ้างแล้วเรารายย่อยอยู่ตรงไหน

ในตลาดหุ้นจะมีคนเพียง 3% เท่านั้น คือผู้ชนะตลอด ที่อยู่บนสุดของพีรามิด และเป็นเจ้าของเงิน 97% ที่มีอำนาจควบคุมราคาและตลาด รายย่อยเป็นเพียงส่วนหนึ่งในคนส่วนมาก 97% เราลองคิดแบบง่ายๆ คน 3% เหล่านี้เขาคงไม่ยอมขาดทุนง่ายๆ หรอกและจะทำทุกอย่างเพื่อเอาเงินออกจากกระเป๋าเรา ในเวลาที่คนส่วนมากคิดเหมือนกันว่าจะซื้อแสดงว่าต้องมีอีกฝั่งหนึ่งขายแน่ เพราะถ้าอย่างนั้นก็ไม่เกิดการ Matching จำนวนซื้อต้องเท่ากับจำนวนขาย ในทำนองเดียวกัน กับที่คนส่วนใหญ่คิดเหมือนกันว่าจะขาย คิดว่าใครจะเป็นคนซื้อหล่ะ พอมองภาพออกแล้วใช่ไหมคับ เห็นช่องว่างว่าควรทำอย่างไรแล้วใช่ไหมคับ เราต้องคิดวิเคราะห์แบบผู้ชนะ คิดต่างจากคนส่วนใหญ่ 97% พิจารณาว่าผู้เล่นแต่ละคนจะใช้ข้อมูลข่าวสารที่ออกมาอย่างมากมายๆ นั้นอย่างไร เน้นนะครับว่าเราพิจารณาผู้ใช้ข้อมูลข่าวสารไม่ใช่พิจารณาข้อมูลข่าวสารเสียเอง ยังมีอีหลายประเด็นที่ต้องขยายความต่อ แล้วจะค่อยๆทยอยลงบทความครับ
การคิดแบบผู้ชนะ ใช้ได้กับทุกสถานะและทุกสถานการณ์
·        นักเก็งกำไร ที่มองหากำไรจากส่วนต่างจากราคาซื้อขาย
·        นักลงทุนระยะยาว (VI)  ที่ใช้จังหวะในการเข้าซื้อ เพื่อให้ได้ส่วนต่างแห่งความปลอดภัย (MOS) และจังหวะขายเมื่อพื้นฐานกิจการเปลี่ยนไป
·        การใช้ชีวิตประจำวันของคนทั่วไป
“ทำเหมือนๆ คนส่วนใหญ่ก็ได้ผลตอบแทนระดับธรรมดา ลองคิดต่างดูซิครับ”